home school

เรามาทำความรู้จักกับการเรียนแบบ Home School กันเถอะ

ปัจจุบันการทำ Home School หรือที่ในประเทศไทยจะรู้จักกันในชื่อ “บ้านเรียน” กำลังได้รับความสนใจในหมู่ผู้ปกครองมากขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด ที่ทำให้โรงเรียนต้องปิด และต้องมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จึงทำให้ผู้ปกครองต้องลงมือสอนลูก ๆ เองทำให้บางคนเริ่มมองหาตัวเลือกอื่น ๆ นอกจากการส่งลูกไปโรงเรียนแบบในอดีต

Home School (โฮมสคูล) นั้นถูกจัดว่าเป็นประเภทหนึ่งของการจัดการศึกษาให้เด็กในวัยเรียน ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งครอบครัว พ่อแม่หรือผู้ดูแล สามารถจัดการการศึกษาพื้นฐานให้แก่เด็กเอง โดยที่ไม่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ หรือเอกชน

ซึ่งในการเรียนแบบโฮมสคูลนั้น บ้านเปรียบเสมือนโรงเรียน โดยมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นครู ผู้ที่จะต้องเลือกรูปแบบการจัดการศึกษา และจัดทำแผนการศึกษาโดยอิงจากความสนใจของลูก ซึ่งก็คือนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องประเมินและเก็บรวบรวมผลงานการเรียนรู้ของลูก เพื่อส่งให้กับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอีกด้วย

Home School สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่
ถึงแม้ว่าการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย จะเริ่มต้นที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรืออายุประมาณ 7 ปี แต่หากคุณพ่อคุณแม่อยากจะเริ่ม Home School ให้ลูก ๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลก็สามารถทำได้เช่นกัน และนอกจากนี้ยังสามารถทำโฮมสคูลได้จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เลยอีกด้วย

Home School ไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว
เมื่อคนพูดถึงโฮมสคูล หรือ บ้านเรียน ก็มักจะเข้าใจว่าการศึกษาประเภทนี้จะมีได้ในรูปแบบเดียวคือ พ่อแม่สอนลูกเองที่บ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วการโฮมสคูล นั้นสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว อาทิเช่น

-การจัดการศึกษาแบบครอบครัวเดี่ยว ซึ่งพ่อแม่จะเป็นผู้ประเมินผลการเรียนของลูก ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
-การจัดการศึกษาแบบกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการรวมกลุ่มของครอบครัวที่จัดการศึกษาแบบโฮมสคูล โดยจะมีการจัดการศึกษาแยกจากกันอย่างอิสระของแต่ละบ้าน และมีการนัดรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในบางโอกาส
-การจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์ คือการรวมตัวกันของครอบครัวโฮมสคูล จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนครอบครัวเดี่ยว หรือศูนย์การเรียนกลุ่มครอบครัว โดยที่มีคณะครอบครัวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการดูแลบริหารจัดการ “ในรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไร”
-การจัดการศึกษาโดยมีข้อตกลงร่วมกับทางโรงเรียน โดยที่การจัดหลักสูตรการสอน จะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ในส่วนของการประเมินผลนั้น ผู้ปกครองจะร่วมประเมินกับทางโรงเรียน ทางโรงเรียนจะมีการออกใบรับรอง สนับสนุนสื่อการเรียน การใช้สถานที่ในการทำกิจกรรม หรือให้เด็กโฮมสคูลเข้าร่วมกิจกรรมกับนักเรียนในโรงเรียนในบางกิจกรรม เช่น ทัศนศึกษา เป็นต้น
-การเรียนออนไลน์ โดยใช้หลักสูตรโฮมสคูลของต่างประเทศ

home school

ใครที่สามารถทำโฮมสคูลให้ลูกได้บ้าง
ทุกครอบครัวสามารถทำโฮมสคูลให้ลูกได้ แต่ก็มีสิ่งที่ควรจะพิจารณาและวางแผนอยู่หลาย ๆ ข้อ เช่นใครจะเป็นผู้ดูแลและสอนลูก จะแบ่งหน้าที่การสอนลูกอย่างไร มีเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับทำโฮมสคูลหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องออกแบบ และจัดทำแผนการจัดการศึกษา โดยอิงจากความสนใจของลูกและบริบทของครอบครัวเป็นหลัก แต่ก็ยังต้องสอดแทรกองค์ความรู้พื้นฐานของแต่ละช่วงวัยเข้าไปด้วย และทำการบันทึกผลลัพท์ รวมไปถึง “การจัดเก็บแฟ้มผลงานของลูกในระหว่างการเรียน” ในแต่ละเทอม เพื่อส่งมอบให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทำการประเมินในแต่ละครั้ง

การออกแบบการศึกษาแบบโฮมสคูล
การออกแบบแผนการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลนั้น จะต้องมีการสร้างหลักสูตรของครอบครัวโดยตกลงและเตรียมการร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก อาจจะมีการผสมผสานกันขององค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ ที่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กเป็นคนใฝ่เรียนรู้ และเข้าใจกระบวนการ และวิธีการค้นคว้าหาความรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จะช่วยให้เด็กสามารถเสริมสร้างความรู้ไปได้ตลอดชีวิต

แผนการศึกษาแบบโฮมสคูลนั้นจะมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้องค์ความรู้ ขอบเขตเนื้อหาทางวิชาการ ไม่แตกต่างจากหลักสูตรในโรงเรียนทั่วไป
กระบวนการ วิธีการเรียนรู้ จะยืดยุ่นแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว
มีการสร้างเสริมประสบการณ์จากกิจกรรมนอกห้องเรียน
มีการเข้าร่วมกลุ่ม Home School หรือค่ายกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้พัฒนาสกิลเข้าสังคม

โฮมสคูลเรียนอะไรบ้าง
การเรียนแบบโฮมสคูลมักจะยึดตามความสนใจของเด็กและครอบครัวเป็นหลัก โดยที่กระบวนการเรียนและวิธีการเรียนอาจแตกต่างกับการเรียนในโรงเรียนทั่วไป เช่นการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่องการชั่ง ตวง และวัด ของเด็กโฮมสคูลอาจใช้การเรียนผ่านการทำขนมเค้ก และยังสามารถต่อยอดไปในเรื่องการคำนวณต้นทุน ราคาขาย และการทำบัญชีได้ด้วย

การประเมินผล
การประเมินผลของการทำโฮมสคูลแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของการจัดการเรียน เช่นหากเป็นการจัดโฮมสคูลแบบครอบครัวเดี่ยว หน้าที่การประเมินก็จะเป็นของพ่อแม่ และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยที่วิธีการประเมินก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละเขต เช่นการดูแฟ้มผลงาน, การทำแบบประเมิน และ การสัมภาษณ์สอบถามเด็ก เป็นต้น โดยที่จะมีการประเมินจากเขตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การสนับสนุนจากรัฐ
สำหรับนักเรียนโฮมสคูลที่ได้ลงทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพฐ. หรือ สพป.) แล้ว จะได้รับ “เงินอุดหนุนการศึกษา” ซึ่งจัดสรรให้นักเรียนทุกคนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ไปจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เหมือนกับนักเรียนทั่วไปที่เรียนในระบบโรงเรียนของรัฐ โดยเงินอุดหนุนการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 5 หมวดดังต่อไปนี้
1.ค่าจัดการเรียนการสอน
2.ค่าหนังสือเรียน
3.ค่าอุปกรณ์การเรียน
4.ค่าเครื่องแบบนักเรียน
5.ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
โดยที่นักเรียนในแต่ละระดับชั้นเรียนก็จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวนไม่เท่ากัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ)

ผู้ปกครองหลายคนอาจกังวลว่าหากเรียนโฮมสคูลแล้ว กลัวว่าลูก ๆ จะไม่สามารถเข้าเรียนในระบบได้อีก จริง ๆ แล้วการเรียนโฮมสคูลสามารถได้รับวุฒิการศึกษา เพื่อนำไปสอบเข้าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยในระบบได้ ซึ่งก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น
-การจดลงทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
-การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
-จดทะเบียนกับโรงเรียนที่เปิดรับเด็กโฮมสคูล
-ลงเรียน หรือ สอบเทียบหลักสูตรของต่างประเทศ เช่น GED หรือ IGCSE
และในกรณีที่ผู้ปกครองอยากให้ลูกกลับเข้าเรียนโรงเรียนในระบบ ก็สามารถขอใบรับรองวุฒิการศึกษาจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้ลงทะเบียนไว้ได้ หรือจะปรึกษาเรื่องวุฒิการศึกษากับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ก็สามารถทำได้เช่นกัน

อ่านบทความข่าวสารอื่นๆได้ที่ skpce.com

Releated